ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือค่าฝุ่น PM10 และ PM2.5 ที่เกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว และต้นทุนในการรักษาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยในปี 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ไว้ที่ 163,313 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าความเสียหายนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณมลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ

 

           ต้นเหตุของการเกิดหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ เกิดจากสองปัจจัยหลัก ปัจจัยแรก คือ สภาวะ Temperature Inversion ที่ลดอัตราการถ่ายเทของอากาศจากมวลอากาศเย็นที่มีความหนาแน่นกว่ากดเอาไว้ ทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไม่สามารถระบายออกไปได้ ประกอบกับปริมาณฝุ่นควันที่เกิดขึ้นจากการเผาวัชพืชในพื้นที่เพื่อเตรียมแปลงเกษตรในช่วงฤดูร้อนก่อนเข้าฤดูกาลเพาะปลูกในช่วงหน้าฝน และการเผาพื้นที่ป่าเพื่อล่าสัตว์และหาของป่าออกมาขาย กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่พอจะเข้าถึงได้อย่างไม่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนพื้นที่ไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่ไร่ถาวร การถางพื้นที่ป่าเพื่อเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว การใช้สารเคมีทางการเกษตร และการเผาในที่โล่ง

 

                 จากการศึกษา และวิเคราะห์การใช้ไฟในพื้นที่ทั้งแปดจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทยพบว่าพื้นที่ที่มีการเผาไหม้ซ้ำซาก ในช่วงระยะเวลา 3 ปี คือ พื้นที่ป่าผลัดใบ คิดเป็นร้อยละ 95 ของพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก 3 ปี ลักษณะการใช้พื้นที่เหล่านี้ ได้บ่งชี้ต้นเหตุของปัญหาไปที่ คนรายได้น้อยที่ขาดการเชื่อมต่อกับตลาด และจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากการผ่านการรับซื้อพืชเชิงเดี่ยวของพ่อค้าคนกลาง โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่มาความผันผวนต่อราคารับซื้อ และนโยบายการรับซื้อและประกันราคาของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาปริมาณการนำเข้า ราคากลางในการรับซื้อ ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดรวม 2 ล้านไร่(สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2565) ทั้งนี้พื้นที่ปลูกข้าวโพดได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ผลิตใน 8 จังหวัดภาคเหนือในปี 2545 กับพื้นที่ปลูกในปี 2565 (Green Peace, 2564) ดังแสดงในภาพ

ภาพ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือตอนบนของไทย แยกรายจังหวัด ปี 2545-2565
(Green Peace, 2564)

 

                     การขาดการเชื่อมโยงกับตลาดเป็นเพียงส่วนหนึ่งปัญหาของการขาดการเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานอื่น ๆ อันเนื่องมาจากความห่างไกลของพื้นที่ และเหล่านี้ ได้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนในพื้นที่ ขาดการศึกษาทำให้ขาดความเชื่อมโยงกับตลาด และความสามารถในการต่อรอง และทางเลือกในการประกอบอาชีพ แหล่งรายได้หลักกลายเป็นการทำการเกษตรในรูปแบบของเกษตรพันธสัญญา ส่งผลให้คนในพื้นที่ มีสภาพหนี้สูงกลายเป็นคนยากจน การใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อสุขภาพ และสุขภาวะ สิ่งแวดล้อมเสื่อมสลายไป และเกิดการใช้ไฟในการทำการเกษตรเนื่องจากมีต้นทุนต่ำ ส่งผลต่อคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือมายาวนานหลายทศวรรษ
       

                         ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮซ ฟรี  ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อสานต่องานวิจัยเชิงพื้นที่ของโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน (พ.ศ. 2559-2565) ได้เข้าทำงานร่วมกับพื้นที่สร้างต้นแบบและขยายพื้นที่นำร่องโดยนำระบบการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วมหรือ PGS (Participatory Guarantee System) เข้ามาปรับใช้ในพื้นที่ ปัจจุบันมีพื้นที่นำรองได้แก่พื้นที่ จ.น่าน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และ จ.แม่ฮ่องสอน รวม 176 ไร่ มีเกษตรสมาชิกจำนวน 58 ครอบครัว ทำงานร่วมกับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมุ่งเน้นช่วยกันแก้ไขและลดผลกระทบปัญหาหมอกควัน ลดปริมาณสารเคมี และลดการขยายการบุกรุกพื้นที่ป่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้ที่มั่นคงจากการขายผลผลิตแล้ว จะได้ทำการส่งเสริมกิจกรรมปลูกป่าบนพื้นที่ทำกินเพื่อสร้างระบบนิเวศใหม่ และใช้กลไกการติดตามประเมินผลการดำเนินงานเพื่อขอรับรอง Carbon Credit ตามรูปแบบของ T-VER Premium หรือ Gold Standard เพื่อติดตามการทำงานตลอดช่วงระยะเวลาโครงการ (10 ปี) ทั้งนี้การคัดเลือกมาตรฐานในการรับรอง Carbon Credit ขึ้นอยู่กับ เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการขอขึ้นทะเบียนโครงการว่ารูปแบบใดมีความเป็นไปได้มากกว่า

                        ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้งาน หรือ พื้นที่ที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นพื้นที่วนเกษตร ที่จะสามารถสร้างรายได้จากผลผลิตของเกษตรกรเจ้าของพื้นที่ โดยแบ่งเป็น ไม้ผลร้อยละ 50 ไม้โตเร็วร้อยละ 30 และ ไม้มีค่าร้อยละ 20 ซึ่งการคัดเลือกพันธุ์ไม้ในแต่ละแปลงจะขึ้นอยู่กับ ที่ตั้ง ภูมิประเทศ ปริมาณน้ำ และศักยภาพของเกษตร โดยจะต้องมีจำนวนต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 100 ต้นต่อไร่ ในพื้นที่ทั้งหมด 55 ไร่ ตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยมีพันธุ์พืชที่คัดเลือกไว้เบื้องต้นแบ่งตามประโยชน์การใช้งาน และอัตราการดูดซับคาร์บอนของต้นไม้ ทั้งนี้ หจก. เฮซ ฟรี จะได้สำรวจความต้องการของเกษตรกร และตลาดรับซื้อผลิตเพื่อคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมในแต่ละแปลงต่อไป

                          ในการดำเนินโครงการจะมีการพัฒนาโครงการเพื่อขอรับรอง Carbon Credit ตามมาตรฐานสากล (T-VER Premium หรือ Gold Standard) เพื่อยกระดับความเข้มข้นในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการว่ามีการดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้จริง โครงการจะได้พัฒนาเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียนโครงการต่อหน่วยงานรับรองมาตรฐาน และติดตามผลการดำเนินงาน และส่งมอบคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นตามจริงในช่วง 10 ปี แรกให้กับตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

วัตถุประสงค์
     1.เพื่อปลูกไม้ยืนต้นทดแทนในพื้นที่ทำกิน ลดการใช้ไฟในจัดการวัชพืชเพื่อพืชล้มลุก
     2.ลดปริมาณการใช้สารเคมีในพื้นที่เพื่อลดการบ่นเปื้อนของสารเคมีในพื้นที่ต้นน้ำ
     3.เพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอนให้แก่พื้นที่ และมีการติดตามการดำเนินการปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง
     4.สร้างพื้นที่ผลิตอาหารยั่งยืน