จากงานวิจัยสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม

     Haze Free Social Enterprise วิสาหกิจเพื่อสังคมไร้ควัน เริ่มต้นจากงานวิจัยใน โครงการวิจัย “ประเทศไทยไร้หมอกควัน” ชุดโครงการย่อยที่ 1 “การปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน และการออกแบบห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรเพื่อลดการเกิดหมอกควัน” ซึ่งในโครงการวิจัยได้มีการขับเคลื่อนให้เกษตรกรตระหนักถึงการลดการเผาที่ก่อให้เกิดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลต่อสุขภาพ และการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนโดยทั่วไป

    ทั้งนี้ทางโครงการวิจัยได้มีการจึงขับเคลื่อนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ในการทำการเกษตรโดยไม่พึ่งพาการเผา ซึ่งโครงการวิจัยนี้ได้นำร่องในพื้นที่จังหวัดน่านและพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการนำกระบวนการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System : PGS) มาเป็นกรอบในการดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินและทำการเกษตรแบบไม่พึ่งพาไฟ โดยพีจีเอสเป็นการรับประกันคุณภาพผลผลิตอินทรีย์โดยชุมชนที่เหมาะสมกับสภาพบริบทของชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรมและการเกษตรของท้องถิ่น วิธีการของพีจีเอสไม่มีสูตรสำเร็จ แต่กลุ่มพีจีเอสจะต้องดำเนินการภายใต้หลักการเดียวกันคือ หลักการพีจีเอสของ IFOAM

     เกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ให้เป็นพื้นที่ปลอดการเผา ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งนอกจาการลดการเผาแล้วนั้นเกษตรกรในพื้นที่โครงการยังได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีหันมาทำเกษตรกรรมที่ปลอดสารเคมีเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และฟื้นฟูพื้นที่การทำเกษตรกรรมของตนเองให้มีประสิทธิภาพเพื่อคุณภาพของสินค้าเกษตรของตนเอง

     เมื่อเกษตรกรมีผลผลิตจึงได้มีการสร้างแผนธุรกิจเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากสินค้าอย่างยั่งยืน และได้จัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมไร้ควัน Haze Free Social Enterprise เพื่อเป็นจุดกลางในการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในแต่ละพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรูปแบบบูรณาการร่วมกันภายในกลุ่ม วิสาหกิจเพื่อสังคมได้มีการจัดกรรมศึกษาดูงานเพื่อบ่มเพาะให้เกษตรกรได้นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีประสิทธิ ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

     ทั้งนี้วิสาหกิจเพื่อสังคมไร้ควันได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจากพื้นที่ในสองจังหวัดนำร่องมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นใน 4 จังหวัด คือ น่าน เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน รวมเกษตรกรที่เข้าร่วมในพื้นที่ทั้งหมดเป็น 70 ราย และมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 975.35 ไร่ ในโอกาสต่อไปวิสาหกิจเพื่อสังคมหวังว่าจะเป็นทางเลือกในการร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มพูนประโยชน์กลับคืนสู่สังคม